ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการจัดการ
สิงหาคม 2561
Black swan หรือ Black swan events เป็นคำที่บัญญัติโดย Nassim Nicholas Taleb อดีตเทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ความเสี่ยงในแวดวงการเงินที่ผันตัวเป็นนักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ใช้แทนเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรงแต่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เช่นเดียวกับ “หงส์ดำ” ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดว่ามันมีอยู่ หรือเข้าใจว่า “หงส์” ทุกตัวเป็นสีขาว จนกระทั่งในปี 1697 ที่ Willem de Vlamingh นักสำรวจชาวดัตช์ได้พบหงส์ดำในเขตออสเตรเลียตะวันตก
จริงๆ แล้ว Black swan events นั้นได้ถูกอธิบายมาตั้งแต่หนังสือเล่มแรกของ Taleb ในปี 2001 ที่พูดถึงเหตุการณ์สำคัญของโลก
ตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) การแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต สงครามโลกครั้งที่ 1 การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเกิดวินาศกรรม 11 กันยายนหรือ 9-11 ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่ง Taleb เรียกว่า Black swan events ทั้งสิ้น
ผมคิดว่าองค์ประกอบสุดท้ายนั้นได้แสดงถึงว่า Black swan events เป็นเหตุการณ์ที่มีที่มาที่ไป มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล เพียงแต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้เท่านั้นเอง .. ลองกลับไปดูถึงตัวอย่างที่เขายกมาสิครับ หรือมิเช่นนั้นก็นึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางไอทีอย่าง Google, Facebook หรือ Line chat ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน เพียงแต่ว่าในมุมของการบริหารความเสี่ยงนั้น เรามักจะมุ่งพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบเป็นสำคัญ
การวิเคราะห์ระบุและประเมินความเสี่ยงในขั้นตอนของการบริหารความเสี่ยงนั้น เราจะระบุเหตุการณ์ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในสองมิติ คือความรุนแรงของผลกระทบ (impact) และโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ของเหตุการณ์ (likelihood) ซึ่งหากมีการระบุ Black swan ก็จะเป็นความเสี่ยงที่อยู่มุมขวาล่างในผังความเสี่ยง (กรณีที่ใช้ impact เป็นแกน x) ที่แปลว่าเป็นความเสี่ยงที่มีความรุนแรงสูงแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก (very high impact, very low likelihood)
ถึงแม้เราจะมีข้อมูลความรู้ที่มากขึ้น ก็มิได้หมายความว่าเราจะสามารถระบุหรือคาดการณ์ถึง Black swan events ได้ โดย Taleb ได้กล่าวว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นชิ้นๆ แยกจากกัน แต่มนุษย์นั้นจะพยายามเชื่อมต่อให้กลายเป็นเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ขึ้น ซึ่งเราก็มักจะใช้เป็น “บทเรียน” ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยลืมไปว่ามันเป็นการเชื่อมโยงหรือ “แต่งขึ้น” ด้วยมนุษย์ด้วยกันเอง
ประเด็นนี้เองคือ สิ่งที่บอกได้ว่าการระบุ Black swan events ที่แท้จริงนั้น ทำไม่ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราระบุกันนั้นก็เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เราคาดการณ์กันเอง (โดยมีสมมุติฐานที่ใช้อธิบาย) ซึ่งก็จะไม่สอดคล้องกับองค์ประกอบตั้งแต่ข้อแรกตามแนวคิดของ Taleb แล้ว
ซึ่งจริงๆ แล้วคงไม่มีใครสามารถระบุมันไว้ได้ในผังความเสี่ยง เพราะถ้าระบุได้ มันคงไม่ใช่ Black swan จริง .. แล้วอย่างนี้จะบริหารความเสี่ยงได้อย่างไร?
สิ่งที่ทำได้คือ ความไม่ประมาทหรือไม่ละเลยกับ “ความไม่แน่นอน (uncertainty)” ที่ไม่เคยหายไปนั่นเองครับ